8เทพอสูรมังกรฟ้า
แปดเทพอสูรมังกรฟ้า (จีนแต้จิ๋ว: เทียนเล้งโป๊ยโป๋ว ; จีนกลาง: 天龍八部เทียนหลงปาปู้ ; อังกฤษ: Demi-Gods and Semi-Devils) เป็นนิยายกำลังภายในของกิมย้ง จำลอง พิศนาคะ แปลเรื่องนี้ในชื่อ มังกรหยก ภาคพิเศษ เพื่อให้เข้าชุดกับมังกรหยก แต่ชื่อที่เป็นที่รู้จักมากกว่าคือ แปดเทพอสูรมังกรฟ้าซึ่งเป็นฉบับแปลของ น. นพรัตน์ ซึ่งเรื่องนี้ความจริงน่าจะเรียกว่ามังกรหยกภาค 1 มากกว่าเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องราวก่อนยุคของก้วยเจ๋งซึ่งเป็นตัวเอกในมังกรหยกภาค 1
"แปดเทพอสูรมังกรฟ้า" เป็นผลงานลำดับที่ 11 ของกิมย้ง นับตั้งแต่ชื่อเรื่อง และที่มาของแรงบันดาลใจ แสดงความใฝ่ใจในพุทธศาสนาของเขา ชื่อภาษาจีน "เทียนหลงปาปู้" หมายถึง เทพและอมนุษย์ 8 จำพวก ในตำนานของพุทธศาสนานิกายมหายาน ซึ่งมีอิทธิฤทธิ์เฉพาะตนแตกต่างกันไป ประกอบด้วย
- เทพ เป็นผู้มีบุญกุศล อาศัยอยู่ในสวรรค์ที่พรั่งพร้อม และอิ่มทิพย์ ทว่า ยังไม่อาจละกิเลสจากโลกียสุข เช่น ยังอยากได้หญิงงามของอสูร เป็นต้น
- อสูร เป็นอมนุษย์ในภพภูมิที่หยาบกว่าเทพ หากเป็นชายจะสุดอัปลักษณ์ หากเป็นหญิงจะมีรูปโฉมสะคราญ อสูรมักทำสงครามกับเทพบ่อยครั้ง เพราะต่างริษยาในกันและกัน อสูรอยากได้สวรรค์และความอิ่มทิพย์ของเทพ เทพอยากได้นางงามและภักษาหารรสโอชาของอสูร ต่างสัประยุทธ์กันจนฟ้าดินปั่นป่วน
- มังกร หรือนาค เป็นผู้สืบทอดพิทักษ์ศาสนา เปรียบกับพระชั้นผู้ใหญ่ หรืออุปถัมภกคนสำคัญ
- ครุฑ เป็นนกที่ยิ่งใหญ่ เมื่อกางปีกออกจะครอบคลุมดินฟ้าสามแสนหกหมื่นลี้ และมีฤทธิ์มาก สามารถสร้างความสั่นสะเทือนให้แผ่นดินและจักรวาลได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ในหนึ่งวัน ต้องกินมังกร 1 ตัว และลูกมังกร 500 ตัวเป็นอาหาร มักกล่าวกันว่า วีรบุรุษคนสำคัญคือครุฑมาเกิด
- ยักษ์ เป็นภูตประเภทหนึ่ง อยู่ระหว่างพรมแดนของเทพ อสูร และมนุษย์ มีความแข็งแรง คล่องแคล่ว เป็นกำลังที่เคลื่อนไหวได้ทั้งดีและชั่ว บางยักษ์ช่วยคุ้มครองมนุษย์ บางยักษ์ชอบจับมนุษย์กิน
- คนธรรพ์ เป็นเทพมังสวิรัติ ไม่แตะต้องเนื้อสัตว์สุรา แต่หลงใหลในความงามและกลิ่นหอม ส่วนตนมีฉายาและกลิ่นหอมชวนให้ผู้คนลุ่มหลง ทั้งยังแปลงกายเปลี่ยนรูปได้สุดหยั่งคะเน
- กินนร เป็นเทพที่ชอบร้องรำทำเพลง และสร้างสีสันสำราญใจให้แก่ชาวสวรรค์
- มโหราค เป็นอมนุษย์ชั้นต่ำต้อยที่สุด บ้างมีลำตัวเป็นมนุษย์ ศีรษะเป็นงู บ้างมีลำตัวเป็นงู ศีรษะเป็นมนุษย์ มีฤทธิ์มาก แต่ไม่มีใครอยากยุ่งเกี่ยวด้วยนัก
เทพอสูร 8 เหล่าในความเปรียบทางธรรม ยังหมายถึง ความเปิดกว้างโดยเมตตาของพระพุทธศาสนา ซึ่งไม่ว่าเผ่าพันธุ์วรรณะใด ล้วนมีสิทธิที่จะสดับฟังธรรมะของพระพุทธเจ้า สามารถแสวงหาความเข้าใจ ความหลุดพ้นจากทุกข์ และบรรลุธรรมได้โดยเสมอภาคกัน
กิมย้งเขียนเรื่องแปดเทพอสูรมังกรฟ้าในปี พ.ศ. 2506-2510 และปรับปรุงพิมพ์เป็นเล่มในปี พ.ศ. 2521 ฉบับภาษาไทย จำลอง พิศนาคะ แปลสำนวนแรกในปี พ.ศ. 2522 ใช้ชื่อว่า "มังกรหยกภาคพิเศษ" แต่เนื้อหาและเหตุการณ์ตามท้องเรื่องไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับมังกรหยกทั้ง 3 ภาคเลย ฉากหลังเป็นประวัติศาสตร์ช่วงก่อนมังกรหยกภาคแรกประมาณ 100 ปี
ก่อนหน้านั้น ราชวงศ์ซ้อง (ซ่ง) ดำเนินนโยบายลิดรอนอำนาจขุนศึก และนิยมลัทธิขงจื๊อใหม่ กำลังของส่วนกลางจึงไม่เข้มแข็งนัก ช่วงเวลาตามท้องเรื่องแปดเทพอสูรมังกรฟ้า แผ่นดินจีนแบ่งออกเป็น 5 อาณาจักร ของหลายชนเผ่า
ตรงกลางคือต้าซ้องของชาวฮั่น ด้านเหนือคือต้าเหลียวของชาวชี่ตัน ด้านใต้คือต้าหลี่ ด้านตะวันตกเฉียงเหนือคือซีเซี่ย และด้านตะวันตกเฉียงใต้คือถู่ฝาน ต่างฝ่ายต่างอยากกลืนอาณาจักรอื่น และอาณาจักรที่ล่มสลายไปแล้วอย่างเยี่ยน ก็มีคนคิดฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ ศึกสงครามจึงไม่สงบโดยง่าย
ตัวละครมีมาก เรื่องราวก็ซับซ้อน กิมย้งใช้วิธีเล่าถึงทีละคน ทีละเหตุการณ์ ไล่เรียงกันไป หากอุปมาเทพอสูร 8 เหล่า เป็นตัวละครต่างๆ อาจเปรียบได้ว่า
- เทพ คือ ต้วนเจิ้งหมิง-ฮ่องเต้ต้าหลี่ ต้วนเจิ้งฉุน-อ๋องต้าหลี่ และ เยลุกี-ฮ่องเต้ต้าเหลียว เป็นผู้มีบุญบารมี แต่ยังไม่อาจละวาสนาติดพัน เช่น ต้วนเจิ้งหมิงไม่อาจละพันธะที่ผิดต่อต้วนเหยียนชิ่ง ต้วนเจิ้งฉุนไม่อาจละหญิงงามได้สักนาง และเยลุกีก็อยากรุกรานแผ่นดินต้าซ้อง
- อสูร คือ ต้วนเหยียนชิ่ง-ผู้ถูกตัดสิทธิ์ในบัลลังก์ต้าหลี่อย่างไม่เป็นธรรม มู่หยงป๋อกับมู่หยงฟู่-บุตรชาย ยึดมั่นกับอาณาจักรที่ล่มสลายไปแล้ว จึงสร้างเวรก่อกรรมเพื่อทวงคืนสิ่งนั้น
- มังกร คือ เจ้าอาวาสวัดเทียนหลง ซึ่งชักนำต้วนเจิ้งหมิงให้สละบัลลังก์ใฝ่หาความสงบทางธรรม หรือเสียนขู่ไต้ซือแห่งวัดเส้าหลิน สมณะผู้สั่งสอนวิทยายุทธ์และปลูกฝังคุณธรรมให้แก่เฉียวฟง และอู๋หมิงไต้ซือ ช่วยคลี่คลายความแค้นระหว่างเซียวหยวนซานกับมู่หยงป๋อ
- ครุฑ คือ เฉียวฟง-ยอดคนผู้ยิ่งใหญ่และรันทด
- ยักษ์ คือ เหล่าจอมยุทธ์ฝีมือร้ายกาจ บ้างดี บ้างร้าย บ้างทั้งดีและร้าย อย่างบรรดาชาวยุทธ์ที่บางครั้งถูกปลุกปั่นให้ทำร้ายคนบริสุทธิ์ด้วยความเข้าใจผิด
- คนธรรพ์ คือ ต้วนอี้-ผู้มีจิตใจบริสุทธิ์ ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร เพียงหลงใหลในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เหมือนกับซีจุ๊-หลวงจีนที่ทำผิดวินัยสงฆ์โดยไม่ตั้งใจ ต่อมาได้เป็นราชบุตรเขยของอาณาจักรซี่เซี่ย
- กินนร คือ เหล่านางงามของต้วนเจิ้งฉุน และบุตรสาวทั้งหลายของเขา ซึ่งงามหยดย้อย แต่ชีวิตเป็นทุกข์นัก เพราะต่างไม่อาจครองรักไว้คนเดียว
- มโหราค คือ โหยวตั้นจือ เป็นคนมีฝีมือ แต่น่าสงสารที่สุด เพราะขาดปัญญาชี้นำที่ถูกต้อง เขาหลงใหลในสตรีนางหนึ่ง แต่นางกลับทำลายใบหน้าของเขาจนอัปลักษณ์ และเอาเปรียบโดยตลอด
0 comments:
Post a Comment